เอกสารแนะนำ คุณแม่

เอกสารแนะนำ สำหรับคุณแม่มือใหม่ เพื่อการดูแลน้องๆ ได้อย่างดี โหลดเก็บได้เลย ^^

 

เอกสารแนะนำคุณแม่ ก่อนกลับบ้าน เพื่อดูแลลูกน้อยของเรา
โหลดเอกสารได้ที่นี่ : การให้คำแนะนำคุณแม่ก่อนกลับบ้าน

 

เมนูอาหารเรียกน้ำนม
โหลดเอกสารได้ที่นี่ : เมนูเรียกน้ำนม

 

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

6 เดือนแรกนมเป็นอาหารหลักของลูก หลังจากนั้นลูกควรได้รับ อาหารเสริมตามวัย เพื่อใช้ในการเจริญเติบโตน้ำนมแม่ในช่วงแรกอาจมีน้อยไม่เพียงพอแก่ความต้องการ

คุณแม่อาจให้นมผสมร่วมด้วย ( นมผสมแต่ละยี่ห้ออาจมีอัตราส่วนในการผสมของนม : น้ำไม่เหมือนกัน สามารถดูได้จากข้างกระป๋อง )

แต่ถ้าน้ำนมมีมากเกินความต้องการคุณแม่ก็สามารถบีบน้ำนม เก็บไว้ให้ลูกได้โดยบีบเก็บไว้ในขวดนม หรือถุงเก็บน้ำนมตาม ขั้นตอนดังนี้

การบีบนมเพื่อเก็บไว้สำรอง

  • ระวังเรื่องความสะอาด ควรล้างมือ เช็ดเต้านมและดูแลภาชนะให้สะอาดทุกครั้ง
  • หามุมสงบ ผ่อนคลาย จะช่วยเพิ่มการหลั่งของน้ำนม
  • อาจประคบเต้านมด้วยผ้าชุบน้ำร้อน 3-5 นาที ก่อนนวดเต้านม จะทำให้น้ำนมไหลดีขึ้น
  • นวดเต้านมเป็นวงกลมไปรอบๆตามด้วยการบีบเบาๆเริ่มจากบริเวณขอบนอกของเต้านมเข้ามายังบริเวณหัวนม
  • กระตุ้นหัวนมเบาๆโดยการใช้นิ้วดึงหรือคลึงหัวนม
  • บีบน้ำนมออก โดยใช้นิ้วหัวแม่มือวางบนลานหัวนมด้านบน ส่วนนิ้วที่เหลือวางด้านตรงข้ามกดเข้าหาทรวงอกก่อน แล้วค่อยๆบีบนิ้วเข้าหากันน้ำนมแม่จะไหลออกมา
  • ทำซ้ำใหม่ กด-บีบ-ปล่อย เป็นจังหวะไปรอบๆโดยย้าย ตำแหน่งที่วางนิ้วไปบริเวณรอบเต้านม เพื่อให้น้ำนมไหลออกจากกระเปาะน้ำนมทุกอัน
  • เก็บใส่ภาชนะสะอาดที่เตรียมไว้เช่น ขวดนมถุงเก็บน้ำนม แม่โดยทำความสะอาดภาชนะใส่น้ำนมให้สะอาดทุกครั้ง

การเก็บรักษานมแม่

  • เก็บน้ำนมในปริมาณที่ลูกกินหมดพอดีในแต่ละมื้อ
  • เมื่อเก็บน้ำนมเสร็จควรปิดภาชนะให้มิดชิดทันที เขียนวันที่ เวลาที่เก็บไว้จัดเรียงตามลำดับก่อนหลัง
  • ถ้ามีน้ำนมมาก ให้เก็บสำรองไว้ในช่องแช่แข็งของตู้เย็น

ไม่เก็บที่ฝาตู้เย็นเพราะอุณหภูมิไม่คงที่ ควรเก็บบริเวณใต้ช่องน้ำแข็งในกรณีที่ไม่แช่ช่องแข็ง

การนำน้ำนมแช่เย็นออกมาให้ลูกกิน

  • นมที่เก็บในช่องแช่เย็นธรรมดา ให้นำมาวางไว้นอกตู้เย็นเพื่อให้หายเย็น หากต้องการประหยัดเวลา สามารถแช่น้ำอุ่น (ไม่ใช้น้ำร้อนจัด และห้ามใช้ไมโครเวฟ)
  • นมที่เก็บในช่องแช่แข็ง ให้ใช้นมเก่าก่อน เมื่อจะนำมาใช้ให้ย้ายลงมาไว้ในช่องธรรมดา 1 คืน เพื่อให้ละลาย
  • นมแช่แข็งที่ละลายแล้ว ไม่นำไปแช่แข็งอีก
  • นมที่กินไม่หมด ให้ทิ้งไป ไม่เก็บไว้กินต่อ

การดูแลสะดือ


สะดือของลูกก็เป็นของสำคัญที่จะละเลยไม่ได้
ซึ่งคุณแม่สามารถเช็ดทำความสะอาดได้มากกว่าวันละ 1 ครั้งด้วย alcohol 70 % คุณแม่อาจเช็ดสะดือลูกทุกครั้งที่ลูกปัสสาวะ หรือทุกครั้งที่ลูกถ่ายอุจจาระก็ได้หรือหลังอาบน้ำ

โดยใช้ไม้พันสำลีที่สะอาดจุ่มใน alcohol 70 % เช็ดจากโคนสะดือไปหาปลายสะดือ ให้คุณแม่สังเกตปลายไม้พันสำลีว่ามีสีอะไร มีเลือดหรือหนองปนหรือไม่

นอกจากนี้ให้คุณแม่สังเกตบริเวณโดยรอบสะดือว่าบวม แดงหรือไม่ ถ้ามีลักษณะดังกล่าวร่วมกับลูกมีไข้ ตัวร้อน แสดงว่ามีการติดเชื้อเกิดขึ้นคุณแม่ต้องรีบพามาพบคุณหมอเพื่อทำการรักษาต่อไป

การฉีด วัคซีนของลูก

 

ก่อนลูกกลับบ้าน ทางห้องเด็กแรกเกิดจะฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรค และวัคซีน ป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี เข็มที่ 1พร้อมบันทึกลงในสมุดสุขภาพ

วัคซีนป้องกันวัณโรค หลังจากฉีดไปประมาณ 2 – 3 สัปดาห์จะมีตุ่มหนองเกิดขึ้นตรงบริเวณที่ฉีด เด็กอาจมีไข้ต่ำ ร้องกวนคุณแม่สามารถใช้สำลีชุบน้ำต้มสุกเช็ดบริเวณนั้นได้ ไม่ต้องใส่ยา หรือป้ายยา อาบน้ำได้ตามปกติ

ประมาณสัปดาห์ที่ 4 ตุ่มนั้นจะแตกออกเป็นแผลเป็นตรงตำแหน่งที่ฉีด แสดงว่าวัคซีนได้ผลกุมารแพทย์จะนัดลูกมาฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี เข็มที่ 2

พร้อมทั้งดูรอยแผลเป็นของวัคซีนป้องกันวัณโรค ในการฉีดวัคซีนแต่ละครั้ง อาจพบว่าตำแหน่งที่ ฉีด บวม แดง คุณแม่สามารถใช้ผ้าชุบน้ำสะอาดประคบเพื่อบรรเทาอาการได้

ฝ้าขาวในปากทารก,วิธีการเช็ดลิ้น

ฝ้าขาวในปากคุณแม่อาจพบว่าลูกน้อยมีฝ้าขาวบนลิ้นซึ่งเกิดจากคราบน้ำนม สามารถเช็ดออกได้ง่ายเพียงแต่คุณแม่ใช้ไม้พันสำลีชุบน้ำต้มสุกเช็ดทำความสะอาด

เท่านี้คุณแม่ก็ไม่ต้องกังวลอีกต่อไปแต่หากพบว่าลิ้นลูกน้อยมีฝ้าขาวเป็นปื้นจำนวนมากทั่วปาก และเช็ดไม่ออกควรนำลูกน้อยไปพบกุมารแพทย์

ทารกร้องกวนเวลาดูดนม วิธีเช็ดจมูก

ทารกในวัย 4-6 สัปดาห์แรกหลังคลอดจะหายใจได้เฉพาะทางจมูกไม่สามารถหายใจได้เองทางปากเมื่อช่องจมูกลูกมีการอุดกั้นด้วยน้ำมูกที่แห้งกรังทารกจะมีอาการหายใจไม่สะดวก หากมีการอุดกั้นมากทารกจะร้องกวนเวลาดูดนม

สังเกตได้เมื่อทารกดูดนมได้ไม่กี่วินาทีก็จะร้องและคายหัวนมออกจากปากหรืออาจได้ยินเสียงหายใจขณะหลับเพราะหายใจไม่ออก

ควรดูแลโดยใช้ไม้พันสำลีขนาดเล็กจุ่มน้ำอุ่นสะอาดเช็ดเบาๆเพื่อเอาน้ำมูกที่แห้งกรังออก ทารกก็จะหายร้องกวน สามารถทำซ้ำได้ก่อนให้ดูดนมหรืออาบน้ำเสร็จถ้าอาการไม่ดีขึ้นควรพามาพบกุมารแพทย์

การล้างขวดนม

นมผสมที่เด็กกินเหลือ หรือชงทิ้งไว้เกิน 1 ช.ม ควรเททิ้ง เพื่อป้องกันเด็กท้องเสียที่กินนมบูดควรล้างทำความสะอาดขวดนมด้วยน้ำยาล้างขวดนมโดยเฉพาะ และล้างผ่านน้ำสะอาดหลาย หลายครั้ง เพื่อป้องกันสารตกค้าง หลังจากนั้นนำขวดต้มในน้ำสะอาดที่เดือดแล้วอย่างน้อย 10 นาที

จุกนม และฝาคลอบ ต้มในน้ำที่เดือดแล้ว 5 นาทีนำขึ้นมาประกอบให้เรียบร้อย เก็บในภาชนะที่สะอาด มีฝาปิดมิดชิดไม่ควรเก็บขวดนมที่ยังมีนมเหลือค้างข้ามวัน เพราะจะทำให้นมในขวดบูด เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค ควรล้างทำความสะอาด
ทุกวัน หรือ หลังจากเด็กดูดนมหมดทุกครั้ง

ทารกสะอึก

การสะอึกอาจพบภายหลังที่ทารกดูดนมเนื่องจากการทำงานของกระบังลมยังไม่ปกติ หรือยอดของกระเพาะอาหารที่ขยายตัวจากการที่ดูดน้ำนมไปเต็มกระเพาะ ไปสัมผัสกับกระบังลม

หากได้ไล่ลมโดยอุ้มนั่งหรืออุ้มพาดบ่าซัก 5-10 นาที ภายหลังที่ทารกดูดนมจนอิ่มแล้วจะช่วยลดอาการสะอึกได้ไม่จำเป็นต้องให้การรักษาใดๆ

การเช็ดตา


การทำความสะอาดตาให้ใช้สำลีสะอาดจุ่มในน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว เช็ดจากหัวตาไปหางตา ไม่เช็ดทวนย้อนกลับ หากไม่สะอาดให้ใช้สำลีก้อนใหม่

โดยคุณแม่สังเกตสิ่งที่ติดมากับสำลีที่เช็ดตาลูก ว่ามีสีอย่างไร เปลือกตาบวม แดง มีขี้ตาเขียวหรือไม่ สิ่งเหล่านี้สามารถบอกได้ว่า ตาของลูกมีการอักเสบติดเชื้อหรือไม่ หากพบควรพาลูกมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษา

การดูแลเล็บมือ / เล็บเท้าทารก และการตัดเล็บ

การดูแลเล็บมือเล็บเท้า คุณแม่ควรตัดเล็บให้ลูกในขณะที่ลูกนอนหลับโดยใช้กรรไกรปลายมนตัดเล็บลูกน้อยให้สั้นอยู่เสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เล็บลูกข่วนใบหน้าและร่างกาย สำหรับทารกแรกเกิดที่เล็บนิ่ม , บางและยาวเกินไปคุณแม่ยังไม่กล้าตัดเล็บให้ลูกอาจจะต้องให้ใส่ถุงมือควรเลือกถุงมือชนิดที่มีการเย็บล้มตะเข็บ ไม่มีเส้นด้ายรุงรังเพราะอาจรัดนิ้วมิลูกจนเกิดอันตรายได้